พระประวัติ ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ที่ประสูติแต่หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา[3] เมื่อวันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2420

หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เข้าศึกษาวิชาการทหารจากโรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่และทหารช่าง ประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นพระบิดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ทรงดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำประเทศอังกฤษ ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2441 สอบได้ชั้นที่ 4 อันดับที่ 22 จึงได้รับพระราชทานยศร้อยตรี (ร.ต.) ของกองทัพบกไทย แต่ได้ทรงศึกษาเพิ่มเติมในโรงเรียนนายทหารช่างอังกฤษเพิ่มอีก 1 ปี จึงเสด็จกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2443[4]เข้าประจำการที่กรมเสนาธิการทหารบก จึงถือได้ว่าทรงเป็นนายทหารไทยรุ่นแรกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ในขณะนั้น พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ จึงเสมือนเป็นพระหัตถ์ขวาของพระองค์เจ้าจิรประวัติฯ ในการปรับปรุงจัดระเบียบกองทัพในแบบสมัยใหม่ ต่อมาในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2444 พระองค์ได้รับพระราชทานพระยศ ร้อยโท[5] จากนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานยศเป็น พันตรี เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2445[6]ทรงได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลทหารบกนครราชสีมา ซึ่งเป็นมณฑลแรกในประเทศไทยที่มีการเกณฑ์ทหาร จากนั้นพระองค์ได้รับพระราชทานพระยศเป็น พันโท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2446[7]ต่อมาทรงได้รับพระราชทานพระยศ พันเอก เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2447[8]ต่อมาได้รับพระราชทานพระยศ พลตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2449[9] ขณะพระชันษาได้ 29 ปี และได้รับพระราชทานพลโท (พล.ท.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2456[10]หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไม่นาน ทรงดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ 3 นครราชสีมา และรั้งตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่อีกตำแหน่งหนึ่ง

ทรงเป็นหม่อมเจ้าพานทอง ทรงศักดินา 3000 เทียบเท่าขุนนางชั้นพระยาพานทอง[11](โดยปกติหม่อมเจ้าจะทรงศักดินา 1500)[12]

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสกสมรสกับ เจ้าหญิงทิพวัน ณ เชียงใหม่ [13] ธิดาของเจ้าเทพดำรงรักษาเขตกับเจ้าแม่พิมพา กนิษฐาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2445 จากนั้นทรงรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 3 ปี หม่อมเจ้าบวรเดชได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราชมณฑลพายัพ ที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2458-2462 และดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2471 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2472

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในกลางปี พ.ศ. 2474 เนื่องจากทรงขัดแย้งกับจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพบก[14]

พระชนชีพในบั้นปลาย หลังจากที่เสด็จกลับสู่ประเทศไทยหลังจากที่ทรงลี้ภัยทางการเมืองนานถึง 16 ปี ทรงตั้งโรงงานทอผ้าขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทอผ้าโขมพัสตร์ขึ้นจำหน่ายได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ทรงมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะ ได้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลศิริราช ที่สุดก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ขณะมีพระชนมายุ 76 พรรษา และได้รับพระราชทานพระเพลิงพระศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497[15]

ใกล้เคียง

พระวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช http://www.maneebooks.com/German_capt/germ_14.html http://www.rakbankerd.com/01_jam/thaiinfor/country... http://family.kridakorn.net/MLSaksiri/KridakornTre... http://www.thaipost.net/node/17214 http://www.kridakorn.org/html/kridakorn_t.html http://www.sri.cmu.ac.th/~maeyinglanna/main2/main9... http://www1.mod.go.th/heritage/nation/event2475/in... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2443/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/03...